องค์ประกอบที่สำคัญในการคิดนวัตกรรม บนพื้นฐานของหลักการทรงงาน (ตอนที่ 2)
ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด
“ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” คำถามคือ ทำไมต้องประหยัด? ทำไมต้องเรียบง่าย? ทำไมต้องได้ประโยชน์สูงสุด? ประหยัดที่กล่าวถึงนี้คืออะไร ต้องมองให้เห็นหลักคุณภาพว่าทำไมพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงคิดให้ประหยัด ประหยัดเพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังสามารถทำได้ คนจนก็ทำได้ คนรวยก็ทำได้ เพราะฉะนั้น พื้นฐานก็ต้องเกิดขึ้นในใจว่า เราคิดอะไรขึ้นมาจะต้องมีความประหยัด ประหยัดในวิธีปฏิบัติไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย คิดแล้วคิดอีกถึงจะได้มาซึ่งหลักการของการประหยัด อะไรที่ไม่จำเป็นก็อย่าไปใช้ ยึดเอาความพอเพียง พอดีๆ อย่าให้มากเกิน น้อยเกินก็ไม่ได้ ต้องประหยัดเหมาะที่จะกระจายไปให้ใครก็ได้ใช้เงินเข้าไปลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมกับนวัตกรรมที่สร้างขึ้น
ส่วนคำว่า “เรียบง่าย” ข้อนี้น่าคิด บางคนคิดว่าข้อนี้เป็นการคิดเชิงคุณภาพเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วคำตอบคือคุณภาพ แต่ว่าเหมาะสำหรับการทำซ้ำ อย่าเอาความซับซ้อนไปอยู่ที่กระบวนการ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักคิดสำคัญว่าความยุ่งยากไม่ควรไปสัมผัสแตะอยู่กับการดำเนินงาน มันจะทำให้การดำเนินงานยุ่งยากและล่าช้า เพราะฉะนั้นกระบวนการสร้าง กระบวนการคิด พื้นฐานของการสร้างนวัตกรรม จะต้องทำให้ง่ายกับผู้ปฏิบัติและผู้ใช้งานหรือใช้บริการ แม้คนที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง คนไม่ค่อยรู้หนังสือก็ทำได้ และแม้ว่าจะเรียบง่ายแต่ต้องอุดมไปด้วยคุณภาพ ทำให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจน เหมาะที่จะศึกษาและดำเนินการ ใครก็สามารถดำเนินการ ใครก็สามารถใช้งานได้ มีการให้ความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน คือถึงแม้จะ “ทำให้ง่าย แต่ไม่มักง่าย” ก็สามารถเป็นหลักคิดในการสร้างนวัตกรรมได้ตามแนวทางของหลักการทรงงาน
ได้ประโยชน์สูงสุด นี่คือ utilization คำว่า ประโยชน์สูงสุดควรจะได้ประโยชน์ (หลังจากที่เราประหยัดเรียบง่าย) ที่อุดมไปด้วยคุณภาพ อุดมไปด้วยปริมาณ อุดมไปด้วยหลักเกณฑ์ที่มั่นคงสูง แต่คำว่าสูงสุดนั้นเอาอะไรมาเปรียบเทียบ สำหรับความคิดของผู้เขียนมองว่า พระองค์ท่านคิดถึง สิ่งที่ต้องลงทุนว่า การที่ต้องลงทุนเยอะ มีความซับซ้อน ใช้วิทยาการมากมาย แล้วได้ประโยชน์แค่ 1 อย่าง ผู้เขียนใช้ตรงจุดนี้เปรียบเทียบว่าเรียบง่ายได้ประโยชน์สูงสุด สูงกว่าสิ่งที่ซับซ้อนและลงทุนมาก นั่นคือประโยชน์สูงสุดที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทำให้เห็นมาแล้ว และสามารถทำได้จริงด้วย อันนี้คือข้อสำคัญที่จะต้องเอามาใช้คิดเพื่อนวัตกรรมในอนาคตว่าทำอย่างไรถึงจะประหยัด ทำอย่างไรมันถึงจะเรียบง่าย ทำอย่างไรประโยชน์มันถึงจะสูงกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ ถึงจะเรียกว่าสำเร็จ อันนี้คือคุณภาพเต็มแก้ว หากนำมาเป็นหลักคิดในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น
ดังนั้น ในการคิดนวัตกรรมใดๆ ต้องคำนึงถึงหลักการ “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” โดยคิดเผื่อคนที่มีรายได้น้อยด้วย การคิดนวัตกรรมใดๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาหรือทำให้เกิดการพัฒนาก็จะสามารถมีทางเลือกที่ประหยัดกว่าได้ โดยประสิทธิภาพและประสิทธิผลมีความใกล้เคียงกับสิ่งที่คิดจากต้นทุนที่สูงกว่า โดยคำนึงถึงความจำเป็นมากกว่าความต้องการ และสามารถหาวัสดุอุปกรณ์ได้ง่าย ราคาไม่แพงจนเกินไป คำว่า “ประหยัด” นี้มีความหมายไปถึง การประหยัดเวลา คือ คิดเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ในการคิดอาจจะมีความซับซ้อน แต่ก็ “ยากเพื่อง่าย” คือ คำนึงถึงความสะดวกเรียบง่ายของผู้ใช้นวัตกรรมให้มากที่สุดและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ทั่วไป นวัตกรรมที่สร้างขึ้นก็จะได้รับความนิยม เพราะธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปไม่ชอบความยุ่งยากหรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคในชีวิต ถ้าเลือกได้ มนุษย์รักที่จะสบายมากกว่าที่จะลำบาก ดังนั้น ผู้คิดนวัตกรรมจึงกลายเป็นผู้เสนอทางเลือกที่สบาย ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสินค้าและบริการ เครื่องมือใช้สอยที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป
ดังนั้น การคิดนวัตกรรมบนพื้นฐานของหลักการทรงงาน เราต้องใช้หลักประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ราคาประหยัด คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นสำคัญ สิ่งที่เราต้องบริหารคือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น เราจะนำมาบริหารอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราจะทำสิ่งใดก่อนหรือหลังเพื่อให้ทรัพยากรที่ใช้ได้ถูกหมุนเวียน (recycle) เพื่อเกิดความคุ้มค่าที่สุด หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ดังนั้น หลักการทรงงานข้อที่ว่า “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” จึงมักมาคู่กับการทำตามลำดับขั้น เพื่อให้เกิดการวางแผนในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีขั้นมีตอนที่เหมาะสม และเรียบง่าย โดยเริ่มจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดแล้วหาจุดเชื่อมในเรื่องอื่นๆ ต่อไป